การเมือง ของ สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3

การประกาศยกเลิกระบอบกษัตริย์ที่ด้านหน้า Palais Bourbon เมื่อวันที่ 4 กันยายน ค.ศ. 1870เลอง กองแบตตา ประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐ ณ ศาลาว่าการกรุงปารีส เมื่อวันที่ 4 กันยายน ค.ศ. 1870

สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย ในปี ค.ศ. 1870–1871 นำมาสู่ความปราชัยของฝรั่งเศส และการล่มสลายของจักรวรรดิฝรั่งเศสที่สองของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 หลังจากพระองค์ถูกจับเป็นเชลยในยุทธการเซอด็อง (Sedan) เมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1870 ทางปารีสก็ได้จัดตั้งรัฐบาลป้องกันประเทศ (Le Gouvernement de la Défense Nationale) นำโดย เลอง กองแบตตา เมื่อวันที่ 4 กันยายน ค.ศ. 1870 โดยมีการเลือก หลุยส์ ฌูล ทรอชูว์ เป็นหัวหน้ารัฐบาล รัฐบาลนี้เป็นรากฐานของรัฐบาลสาธารณรัฐที่สามซึ่งปกครองในช่วงที่กองทัพของปรัสเซียได้เข้าล้อมกรุงปารีส (19 กันยายน ค.ศ. 1870 – 28 มกราคม ค.ศ. 1871) ทำให้ปารีสถูกตัดขาดจากส่วนอื่น ๆ ของฝรั่งเศส ต่อมากองแบตตาได้หลบหนีออกจากปารีสด้วยบอลลูน และไปจัดตั้งที่ทำการของรัฐบาลสาธารณรัฐชั่วคราวในเมืองตูร์

ในเดือนมกราคม 1871 ทางรัฐบาลฝรั่งเศสจึงยอมจำนนต่อปรัสเซีย รัฐบาลป้องกันประเทศได้ถูกยกเลิก และมีการเลือกตั้งสมัชชาแห่งชาติ โดยมีจุดประสงค์เพื่อจัดตั้งรัฐบาลฝรั่งเศสขึ้นใหม่ ผลที่ตามมาคือได้รัฐบาลที่มีฝ่ายขวานิยมราชาธิปไตยเป็นเสียงข้างมาก ซึ่งนำโดยอาดอล์ฟ ตีแยร์ ผู้ซึ่งเป็นฝ่ายออร์เลียงนิสต์เป็นประธานาธิบดี เนื่องจากบรรยากาศทางการเมืองในช่วงเวลานั้นมีความรุนแรงและฝ่ายซ้ายที่แพร่หลายในประชาชนชาวปารีส ทำให้รัฐบาลฝ่ายขวาเลือกเมืองแวร์ซาย เป็นทำเนียบรัฐบาล

รัฐบาลชุดใหม่ได้เจรจาข้อตกลงสันติภาพกับจักรวรรดิเยอรมันที่พึ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ หรือที่รู้จักในนาม สนธิสัญญาแฟรงก์เฟิร์ต เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1871 และเพื่อต้องการให้อิทธิพลของปรัสเซียออกไปจากฝรั่งเศส รัฐบาลจึงได้ตรากฎหมายทางการเงินไว้เป็นจำนวนมาก เช่น กฎหมายว่าด้วยการครบกำหนดการจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้แก่ปรัสเซีย ทำให้ประชาชนชาวปารีสไม่พอใจรัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง จึงทำให้ปลายเดือนมีนาคม–พฤษภาคม ค.ศ. 1871 กรรมกรในกรุงปารีส พร้อมด้วยกองกำลังอารักษ์ชาติได้ก่อการกำเริบและจัดตั้งคณะปฏิวัติในนาม คอมมูนปารีส คอมมูนได้ปกครองกรุงปารีสด้วยแนวคิดสังคมนิยมเป็นเวลาสองเดือน จนกระทั่งมีการปรามปรามอย่างนองเลือดโดยรัฐบาลของตีแยร์ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1871 โดยการปราบปรามครั้งนี้ส่งผลกระทบอย่างสาหัสต่อการขับเคลื่อนของชนชั้นแรงงาน

ความพยายามที่จะเป็นราชาธิปไตย

องค์ประกอบภายในสมัชชาแห่งชาติ ค.ศ. 1871

ในปี ค.ศ. 1871 มีการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผลสรุปคือนักการเมืองฝ่ายขวาที่นิยมราชาธิปไตยได้ที่นั่งในสมัชชาแห่งชาติเป็นส่วนใหญ่ นักการเมืองฝ่ายขวาเห็นด้วยที่จะเจรจาสันติภาพกับปรัสเซีย มีการวางแผนเพื่อฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตยโดยกลุ่มนิยมราชวงศ์บูร์บง "(เลชีตีมีสต์)" ในสมัชชาแห่งชาติ โดยได้สนับสนุนการลงเลือกตั้งผู้สืบทอดบังลังก์ของเจ้าชายอองรี เคานต์แห่งช็องบอร์ ซึ่งเป็นพระราชนัดดาในพระเจ้าชาร์ลที่ 10 (เป็นกษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์บูร์บงที่ขึ้นปกครองฝรั่งเศส) ส่วนทางกลุ่มออร์เลอองนีสต์ได้สนับสนุนพระราชนัดดาของพระเจ้าหลุยส์-ฟีลิปที่ 1 (เป็นกษัตริย์แห่งฝรั่งเศสที่ครองราชย์แทนที่พระเจ้าชาร์ลที่ 10 ในปี ค.ศ. 1830) ซึ่งก็คือ เจ้าชายหลุยส์-ฟีลิป เคานต์แห่งปารีส แต่ทางราชวงศ์โบนาปาร์ต ได้สูญเสียความนิยมเป็นอย่างมากเนื่องจากความพ่ายแพ้ของนโปเลียนที่ 3 และไม่มีสามารถพัฒนาผู้ลงสมัครให้มีประสิทธิภาพได้ เลชีตีมีสต์และออร์เลอองนีสต์ได้หันมาประนีประนอมกัน และมีการตกลงให้เคานต์แห่งช็องบอร์ขึ้นสืบราชบังลังก์และให้เคานต์แห่งปารีสเป็นรัชทายาท เนื่องจากเคานต์แห่งช็องบอร์ไม่มีบุตร แนวคิดในการสืบราชสมบัติครั้งนี้ เป็นแนวคิดตามราชประเพณีดั้งเดิมว่าด้วยสิทธิของบุตรหัวปีตามฝั่งบิดา (Agnatic primogeniture) ที่ใช้ตั้งแต่สมัยบูร์บงสเปนตามสนธิสัญญายูเทรกต์ ดังนั้นในปี ค.ศ. 1871 ราชบังลังก์จึงถูกเสนอให้เป็นของเคานต์แห่งช็องบอร์[4]

ช็องบอร์เชื่อว่าการฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตยจะต้องขจัดร่องรอยของการปฏิวัติฝรั่งเศสไปทั้งหมด (รวมไปถึงธงไตรรงค์ด้วย) เพื่อฟื้นฟูความเป็นเอกภาพระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับสถาบันชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่การปฏิวัติได้ทำลายลง และเขาเชื่อว่าหากใช้การประนีประนอมจะไม่สามารถสร้างสถาบันชาติให้สมบูรณ์ได้ อย่างไรก็ตามประชาชนทั่วไปกลับไม่เห็นด้วยที่จะสละธงไตรรงค์ จึงต้องชะลอการสถาปนาระบอบราชาธิปไตยจนกระทั่งช็องบอร์สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1883 โดยปราศจากบุตร จากนั้นจึงมีการเสนอราชบังลังก์ให้แก่เคานต์แห่งปารีส ซึ่งมีแนวคิดที่เป็นเสรีนิยมมากกว่า แต่ถึงกระนั้นเคานต์แห่งปารีสก็ไม่ได้สนใจที่จะเป็นกษัตริย์แล้ว จึงมีการจัดตั้งรัฐบาลสาธารณรัฐ "ชั่วคราว" ขึ้น[5]

รัฐบาลแห่งศีลธรรม

ข้อมูลเพิ่มเติม: วิกฤตการณ์ 16 พฤษภาคม 1877
มหาวิหารซาเคร-เกอร์ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งศีลธรรมอันดีของประชาชน

ภายหลังที่ฝรั่งเศสยอมแพ้ต่อปรัสเซียในเดือนมกราคม ค.ศ. 1871 ถือเป็นการสิ้นสุดของสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย ทางรัฐบาลเฉพาะกาลแห่งการป้องกันประเทศได้จัดตั้งศูนย์กลางของรัฐบาลใหม่ขึ้นที่แวร์ซาย เนื่องจากการล้อมกรุงปารีสโดยกองทัพปรัสเซีย ผู้แทนราษฎรใหม่ได้รับการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกัน แล้วจึงจัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ โดยจะพัฒนาไปเป็นสาธารณรัฐที่สามในเวลาถัดมา ผู้แทนราษฎรเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากพรรครีพับลิกัน-อนุรักษนิยม (กลาง-ขวา) เหล่าผู้แทนราษฏรได้มีการตรากฎหมายฉบับหนึ่ง ซึ่งผลักดันให้เกิดความไม่พอใจของกลุ่มคนหัวรุนแรงและสมาชิกฝ่ายซ้ายของพรรครีพับลิกัน ทำให้ภายในกรุงปารีส เกิดการชุมนุมประท้วงและการปะทะกันระหว่างรัฐบาลแวร์ซายกับกลุ่มนักสังคมนิยมหัวรุนแรง กลุ่มคนหัวรุนแรงได้ปฏิเสธที่จะยอมรับอำนาจของรัฐบาลแวร์ซาย จึงมีการก่อตั้งคอมมูนปารีสขึ้นในเดือนมีนาคม

หลักการที่เหล่าคอมมูนสนับสนุนถูกมองว่าเป็นการขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนโดยกลุ่มอนุรักษนิยมฝรั่งเศส ในขณะที่รัฐบาลที่แวร์ซายพยายามรักษาเสถียรภาพทางการเมืองอันย่ำแย่หลังสงคราม ในเดือนพฤษภาคม ผู้บังคับบัญชากองทัพฝรั่งเศส นามว่า ปาทริส เดอ มัก-มาอง และรัฐบาลแวร์ซาย นำกองทัพเข้าสู่กรุงปารีสและปราบปรามกบฏคอมมูนได้สำเร็จ ช่วงเวลานี้ถูกเรียกว่า "สัปดาห์เลือด" ("La semaine sanglante")[6] คำว่า ordre moral ("ศีลธรรมอันดีของประชาชน") ถูกนำมาใช้กับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐที่สามที่กำลังก่อตัวขึ้น เนื่องจากการรับรู้ถึงการฟื้นฟูนโยบายและค่านิยมแบบอนุรักษนิยมหลังจากการปราบปรามกลุ่มคอมมูน[7]

ผลของการปราบปรามกลุ่มคอมมูน ทำให้มัก-มาองได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ในเวลาต่อมาเขาได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1873 และดำรงตำแหน่งจนกระทั่งเดือนมกราคม ค.ศ. 1879 มัก-มาองเป็นนักอนุรักษนิยมคาทอลิกที่เคร่งครัด เขามีแนวคิดเห็นพ้องกันกับฝ่ายเลชีตีมีสต์ แต่เขาไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของพวกฆราวาส (กลุ่มคนที่เห็นว่าศาสนาไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับบ้านเมือง) มัก-มาองเริ่มมีความขัดแย้งกับรัฐสภามากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากพรรครีพับลิกันฝ่ายเสรีนิยมกับฝ่ายฆราวาสได้รับเสียงข้างมากในฝ่ายนิติบัญญัติระหว่างการดำรงตำแหน่งของเขา

ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1875 รัฐสภาได้ประกาศใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฉบับใหม่ โดยกำหนดให้ประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งสาธารณรัฐ และใช้ระบบสองสภา ประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง และวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อม และให้สภาทั้งสองอยู่ภายใต้ประธานสภา (นายกรัฐมนตรี) ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบทั้งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยตลอดทศวรรษที่ 1870 มีการถกเถียงเรื่องการนำพระมหากษัตริย์กลับมาปกครองแทนสาธารณรัฐ ซึ่งเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในที่สาธารณะอยู่บ่อยครั้ง

ในฝรั่งเศส เด็กนักเรียนได้รับการสอนว่าพื้นที่ อาลซัส-ลอแรน เป็นพื้นที่ของฝรั่งเศส ซึ่งถูกทาด้วยสีดำบนแผนที่

การเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1876 แสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนของสาธารณชนต่อพรรครีพับลิกันและการต่อต้านระบอบราชาธิปไตยที่เพิ่มมากขึ้น สมาชิกพรรครีพับลิกันได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฏรเป็นส่วนใหญ่ ส่วนทางฝ่ายสนับสนุนราชาธิปไตยได้ที่นั่งในสภาสูงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ประธานาธิบดีมัก-มาองจึงตอบโต้กลับในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1877 โดยพยายามระงับความนิยมที่เพิ่มขึ้นของพรรครีพับลิกัน และจำกัดอิทธิพลทางการเมืองของพรรค หรือที่รู้จักกันในนาม le seize Mai

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ. 1877 มัก-มาองบังคับให้นายกรัฐมนตรี ฌูลส์ ซิมง ซึ่งมาจากพรรครีพับลิกันลาออก และได้เลือก อัลแบร์ตแห่งบรอฌิลี ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทน ซึ่งเขาคนนี้เป็นนักอนุรักษนิยมฝ่ายออร์เลอองนีสต์ สภาผู้แทนราษฎรได้ให้ความเห็นว่าการแต่งตั้งในครั้งนี้มิชอบด้วยกฎหมาย มิหนำซ้ำเป็นการกระทำที่เกินขอบเขตอำนาจของประธานาธิบดี และปฏิเสธที่จะยอมรับการแต่งตั้งบรอฌิลีของมัก-มาอง ดังนั้นมัก-มาองจึงประกาศยุบสภา และเรียกร้องให้มีการจัดเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ในเดือนตุลาคมปีหน้า พรรครีพับลิกันจึงกล่าวหาเขาว่าพยายามทำรัฐประหารรัฐธรรมนูญ ซึ่งเขาได้ปฏิเสธขอกล่าวหานี้

การเลือกตั้งในเดือนตุลาคม พรรครีพับลิกันได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฏรเป็นส่วนใหญ่เช่นเคย ซึ่งสิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความคิดเห็นของสาธารณชน พรรครีพับลิกันได้รับเสียงข้างมากในวุฒิสภาภายในเดือนมกราคม ค.ศ. 1879 ทำให้ยุติการฟื้นฟูราชวงศ์ทั้งสอง (บูร์บงและออร์เลอ็อง) และการสถาปนาระบอบราชาธิปไตย มัก-มาองประกาศลาออก เมื่อวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1879 จึงเป็นโอกาสของพรรครีพับลิกันที่จะปกครองประเทศ ซึ่งนำโดยฌูลส์ เกรวี[8]

พรรครีพับลิกันสายกลาง

ข้อมูลเพิ่มเติม: Opportunist Republicans

หลังจากวิกฤตการณ์ 16 พฤษภาคม ในปี ค.ศ. 1877 กลุ่มเลชีตีมีสต์ถูกกดันให้ลงจากอำนาจ ทำให้สาธารณรัฐถูกปกครองโดยสมาชิกพรรครีพับลิกันสายกลาง ซึ่งพวกเขาสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองในระดับปานกลาง เพื่อสร้างระบอบการปกครองใหม่อย่างมั่นคง กฎหมายของฌูลส์ แฟร์รี่ ทำให้ระบบการศึกษาภาครัฐไม่เสียค่าใช้จ่าย กฎหมายฉบับนี้ได้รับการโหวตโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้มีอำนาจ และฆราวาส (laїque) ในปี ค.ศ. 1881 และ 1882 ซึ่งสิ่งนี้เป็นสัญญาแรกของการขยายอำนาจพลเมืองของสาธารณรัฐ และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นักบวชคาทอลิกจึงสูญเสียการควบคุมการศึกษาของรัฐ[9]

เพื่อต้องการขัดขวางการฟื้นฟูของระบอบราชาธิปไตย มงกุฏเพชรแห่งฝรั่งเศสหลายชิ้นถูกแบ่งส่วน แล้วนำไปขายในปี ค.ศ. 1885 มีเพียงไม่กี่มงกุฎเท่านั้นที่ถูกเก็บไว้ และอัญมณีล้ำค่าของมงกุฏเหล่านั้นถูกแทนที่ด้วยแก้วเคลือบสี

วิกฤตการณ์บูลอนจีร์

รูปภาพของนายพลฌอร์ฌ เออร์เนสต์ บูลอนจีร์

ในปี ค.ศ. 1889 สาธารณรัฐได้เผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองอย่างกะทันหัน เนื่องจากนายพลฌอร์ฌ บูลอนจีร์ ซึ่งเป็นนายพลที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามและชนะการเลือกตั้งหลายครั้ง ได้ลาออกจากตำแหน่งในสภาผู้แทนราษฎรและลงสมัครรับตำแหน่งอีกครั้งในเขตเลือกตั้งอื่น โดยในเดือนมกราคม ค.ศ. 1889 เขาได้รับความนิยมสูงที่สุด เขามีทีท่าว่าจะทำการรัฐประหาร และตั้งตนเป็นเผด็จการ โดยการสนับสนุนจากย่านกรรมกรของปารีสและเมืองอื่น ๆ รวมทั้งชาวคาทอลิกและนักอนุรักษนิยมในชนบท เขาส่งเสริมลัทธิชาตินิยมที่รุนแรงต่อเยอรมนี การเลือกตั้งในเดือนกันยายน ค.ศ. 1889 ถือเป็นความพ่ายแพ้อย่างเด็ดขาดสำหรับพวกบูลอนจิสต์ (Boulangists) เนื่องจากความพ่ายแพ้ต่อการเปลี่ยนแปลงกฎหมายการเลือกตั้งที่กีดกันไม่ให้บูลอนจีร์ลงสมัครหลายเขตเลือกตั้งได้อย่างต่อเนื่อง จากความพ่ายแพ้ของบูลอนจีร์ในครั้งนี้ได้ทำลายกลุ่มอนุรักษนิยมและกลุ่มนิยมกษัตริย์ในฝรั่งเศสอย่างรุนแรง และไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้อีกเลยจนกระทั่งปี ค.ศ. 1940[10]

นักวิชาการสมัยใหม่ได้ให้ความเห็นโต้แย้งว่าพวกบูลอนจิสต์น่าจะเป็นตัวแทนของกลุ่มหัวรุนแรงฝ่ายซ้ายมากกว่าที่จะเป็นฝ่ายขวา เนื่องด้วยผลงานของพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของฉันทามติที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างฝ่ายหัวรุนแรงของฝรั่งเศสที่จะก่อตัวขึ้นในอนาคตข้างหน้าในช่วงแดรฟุส โดยชายคนนี้เคยเป็นพวกบูลอนจิสต์ของกลุ่มหัวรุนแรงมาก่อน[11]

เรื่องอื้อฉาวปานามา

ดูบทความหลักที่: เรื้องอื้อฉาวปานามา

เรื่องอื้อฉาวปานามา ในปี ค.ศ. 1892 ถือเป็นการฉ้อโกงทางการเงินครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเกี่ยวข้องกับความล้มเหลวในการสร้างคลองปานามา เนื่องด้วยปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ ความไม่มีประสิทธิภาพ และการฉ้อราษฎร์บังหลวงในวงกว้าง แต่ปัญหาดังกล่าวถูกปกปิดโดยเจ้าหน้าที่ชาวฝรั่งเศสที่ติดสินบน จึงทำให้บริษัทคลองปานามาล้มละลาย หุ้นของบริษัทไร้คุณค่า โดยนักลงทุนทั่วไปต้องสูญเสียเงินเกือบหนึ่งพันล้านฟรังก์[12]

รัฐสวัสดิการและสาธารณสุข

ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง รัฐบาลฝรั่งเศสถือว่ามีบทบาทด้านรัฐสวัสดิการน้อยมาก เมื่อเทียบกับเยอรมนี แต่ชาวฝรั่งเศสกลับมีระดับรายได้ที่สูงกว่าชาวเยอรมันเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าฝรั่งเศสจะมีทรัพยากรธรรมชาติที่น้อยกว่าก็ตาม ในขณะที่การจัดเก็บภาษีอากรและการใช้จ่ายของรัฐบาลฝรั่งเศสอยู่ในปริมาณที่ต่ำกว่า เมื่อเทียบกับรัฐบาลของเยอรมนี

ฝรั่งเศสมีความล้าหลังกว่าเยอรมนีเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับสหราชอาณาจักร ที่ยังตามหลังในเรื่องการพัฒนารัฐสวัสดิการที่มีการสาธารณสุข การประกันภัยคุ้มครองการว่างงาน และแผนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ มีการประกาศใช้กฎหมายประกันอุบัติเหตุสำหรับกรรมกร ในปี ค.ศ. 1898 และในปี ค.ศ. 1910 ฝรั่งเศสได้ก่อตั้งโครงการแผนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ต่างจากเยอรมนีหรือบริเตนที่ดำเนินโครงการนี้เล็กกว่ามาก ยกตัวอย่างเช่น แผนเงินบำนาญโดยความสมัครใจ เป็นต้น[13] นักประวัติศาสตร์ ทิโมธี สมิธ พบว่าความหวาดกลัวของชาวฝรั่งเศสที่มีต่อโครงการความช่วยเหลือสาธารณะแห่งชาตินั้น มีสาเหตุมาจากการดูหมิ่นเหยียดหยามคนจนตามกฎหมายว่าด้วยความจนของอังกฤษ[14] การแพร่ระบาดของวัณโรค ซึ่งเป็นโรคที่น่ากลัวที่สุดในยุคนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนหนุ่มสาวอายุ 20 ปี ทำให้เยอรมนีกำหนดมาตรการด้านสุขอนามัยสาธารณะและสถานพยาบาลสาธารณะอย่างเข้มงวด ต่างจากฝรั่งเศสที่ปล่อยให้แพทย์เอกชนจัดการปัญหากันเอง[15] วิชาชีพแพทย์ของฝรั่งเศสจึงมีเพื่ออภิสิทธิ์ชนเท่านั้น และนักปฏิรูปสาธารณสุขไม่ได้รับการจัดระเบียบหรือมีอิทธิพลอย่างในเยอรมนี บริเตน หรือสหรัฐอเมริกา[16][17] ยกตัวอย่างเช่น เมื่อช่วงทศวรรษที่ 1880 มีการต่อสู้กันอย่างยาวนาน เพื่อให้มีการออกกฎหมายว่าด้วยเรื่องสาธารณสุข รณรงค์ให้มีการจัดระเบียบบริการสุขภาพของประเทศใหม่ กำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนโรคติดเชื้อ กำหนดให้มีการกักกัน และปรับปรุงกฎหมายด้านสุขภาพและการเคหะของปี ค.ศ. 1850

อย่างไรก็ตาม นักปฏิรูปต้องเผชิญกับการต่อต้านจากเหล่าข้าราชการ นักการเมือง และแพทย์ เนื่องจากเป็นการคุกคามต่อผลประโยชน์ของพวกเขาอย่างมากมาย ข้อเสนอดังกล่าวได้รับการถกเถียงและล่าช้าเป็นเวลากว่า 20 ปี ก่อนที่จะมีการออกกฎหมายซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี ค.ศ. 1902 เพราะรัฐบาลตระหนักว่าโรคติดต่อมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทำให้กำลังทหารของประเทศอ่อนแอลงอย่างมาก และอัตราการเติบโตของจำนวนประชากรชาวฝรั่งเศสต่ำกว่า เมื่อเทียบกับเยอรมนี[18] แต่อีกทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่า ที่อัตราการเติบโตของประชากรฝรั่งเศสต่ำกว่าเยอรมนีนั้น มีสาเหตุมาจากอัตราการเกิดของจำนวนประชากรฝรั่งเศสที่ต่ำ อันเป็นผลมาจากข้อกำหนดภายใต้กฎหมายปฏิวัติฝรั่งเศสว่าด้วยเรื่องที่ดินจะต้องแบ่งระหว่างบุตรชายทั้งหมด (หรือการแบ่งมรดกจำนวนมาก) จากข้อกำหนดนี้ ทำให้ชาวนาไม่ต้องการมีลูกชายมากกว่าหนึ่งคน และไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าชาวฝรั่งเศสมีอายุขัยมากกว่าชาวเยอรมัน[19][20]

แหล่งที่มา

WikiPedia: สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 http://h-france.net/vol13reviews/vol13no169connoll... //doi.org/10.1093%2Ffh%2F7.4.417 //doi.org/10.1177%2F0010414010370435 //doi.org/10.2307%2F286267 //doi.org/10.2307%2F286694 //www.jstor.org/stable/286267 //www.jstor.org/stable/286694 http://libmma.contentdm.oclc.org/cdm/compoundobjec... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... https://www.amazon.com/Capital-Cities-War-1914-191...